ประวัติศาสตร์ – วัฒนธรรม ? : ทำไมบุนเดสลีกาจึงเป็นหมุดหมายหลักของแข้งเอเชีย
“บุนเดสลีกามีชื่อเสียงในฐานะลีกนานาชาติ แต่เราภูมิใจกับสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับเอเชียเป็นพิเศษ” โรเบิร์ต เคลน ผู้บริหาร บุนเดสลีกา อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บุนเดสลีกา ได้กลายเป็นลูกค้าคนสำคัญในการอิมพอร์ตนักเตะจากเอเชีย เพราะแค่ฤดูกาล 2021-2022 ที่ผ่านมาก็มีนักเตะจากทวีปแห่งนี้อยู่ในทีมชุดใหญ่ถึง 14 คน มากที่สุดใน 5 ลีกใหญ่ของยุโรป
โดยชาติที่มีนักเตะอยู่ในลีกสูงสุดของเยอรมันมากที่สุดจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ญี่ปุ่น ที่นักเตะของพวกเขามาโชว์ฝีเท้ามากถึง 9 ราย รองลงมาคือบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง เกาหลีใต้ 3 ราย ขณะที่ อิหร่าน และ ฟิลิปปินส์ มีชาติละ 1 ราย
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ลีกแห่งนี้นิยมนักเตะจากเอเชียอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand
ความผูกพันในอดีต
อันที่จริงความผูกพันระหว่างฟุตบอลเยอรมันและเอเชียนั้นมีมาอย่างยาวนาน จุดเริ่มต้นอาจจะต้องย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1960 จากโค้ชระดับตำนานของเยอรมันที่ชื่อว่า เด็ตมาร์ ครามเมอร์
ในปี 1960 ครามเมอร์ ได้เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่นเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับขุนพลซามูไรบลู ในสมัยที่แดนอาทิตย์อุทัยยังไม่มีลีกอาชีพ ลงสู้ศึกมหกรรมกีฬาโอลิมปิก เกมส์ ที่โตเกียวจะได้เป็นเจ้าภาพในปี 1964
แม้ว่าท้ายที่สุด ญี่ปุ่น จะไปได้แค่เพียงรอบ 8 ทีมสุดท้าย แต่พวกเขาก็ชื่นชมครามเมอร์เป็นอย่างมาก เพราะคำแนะนำของเขาช่วยยกระดับฟุตบอลในแดนซามูไรอย่างแท้จริง และทำให้ครามเมอร์ถูกขนานนามว่า “บิดาแห่งฟุตบอลญี่ปุ่น”
ผ่านไปกว่าทศวรรษหลังครามเมอร์มาเยือนญี่ปุ่น เฮนเนส ไวส์ไวล์เลอร์ โค้ชดังของเยอรมัน ก็มีอันข้องเกี่ยวกับเอเชีย เมื่อโค้ชของโคโลญจน์ รู้สึกต้องตา ยาซูฮิโกะ โอคุเดระ กองกลางชาวญี่ปุ่น ที่มาร่วมซ้อมกับทีม ก่อนจะเซ็นสัญญามาร่วมทัพ และทำให้ โอคุเดระ กลายเป็นนักเตะญี่ปุ่นคนแรกที่ได้เล่นในลีกอาชีพของยุโรป
แต่นั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะคล้อยหลังอีกไม่ถึงปี บุนเดสลีกา ก็มีโอกาสได้ต้อนรับแข้งเอเชียอีกคน หลัง ชา บอม กึน ดาวยิงชาวเกาหลีใต้ ย้ายมาเล่นให้ ดาร์มสตัด ในปี 1978 ต่อด้วย ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต ในปีต่อมา
ทั้ง โอคูเดระ และ ชา ล้วนสร้างความสั่นสะเทือนให้แก่วงการฟุตบอลเยอรมัน โดยเฉพาะหลายหลังที่ยิงประตูอย่างถล่มทลาย พาแฟรงค์เฟิร์ต คว้าแชมป์ยูฟ่า คัพ ในปี 1979-1980 และพา ไบเออร์ เลเวอร์คูเซน คว้าถ้วยใบเดียวกันในปี 1987-1988
หลังจากนั้น บุนเดสลีกา ก็ได้เป็นเวทีสำหรับแข้งเอเชียอีกหลายราย ไม่ว่าจะเป็น วิทยา เลาหกุล ของไทย (1979-1984) อาลี ดาอี (1997-2002) และ เมห์ดี มาห์ดาวิเกีย (1998-2010) ของอิหร่าน รวมไปถึง หยาง เฉิน ของจีน (1998-2003)
แต่ถึงอย่างนั้นนักเตะเอเชียส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเพียงไม้ประดับสำหรับลีกเยอรมันเท่านั้น จนกระทั่งการมาถึงของ “ยุคทอง” แห่งวงการฟุตบอลญี่ปุ่น
โกลเดน เจเนอเรชั่น
แม้ว่า โอคุเดระ และ ชา จะทำผลงานในฐานะผู้บุกเบิกได้อย่างน่าประทับใจ แต่พวกเขาก็ขาดคนรับช่วงต่อ และทำให้นักเตะจากเอเชียยังเป็นเพียงแค่ชนกลุ่มน้อยในบุนเดสลีกา ในช่วงทศวรรษที่ 1990s
โธมัส โครธ เอเยนต์ชาวเยอรมัน คือคนที่รู้ซึ้งในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะเขาคือคนที่เสาะหานักเตะจากเอเชียไปเล่นในยุโรปมากว่า 20 ปี
“ในตอนแรกมันค่อนข้างยาก เพราะว่าทีมในยุโรปไม่ค่อยสนใจนักเตะเอเชีย” โครธ กล่าวกับ FourFourTwo
“หลายทีมบอกว่า ‘เอาล่ะ นักเตะญี่ปุ่นจะช่วยเรายังไง’ ในตอนนั้นทีมชาติของพวกเขามีอันดับฟีฟ่าค่อนข้างต่ำ และสโมสรก็ไม่ค่อยรู้จักตลาดเอเชียมากนัก”
นอกจากนี้ในทางกลับกัน โครธ ยังเผชิญกับปัญหาที่ว่านักเตะเอเชียอยากไปเล่นในพรีเมียร์ลีกมากกว่าบุนเดสลีกา เนื่องจากลีกเยอรมันในตอนนั้นไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและมีสไตล์การเล่นที่ค่อนข้างน่าเบื่อไร้เสน่ห์ดึงดูดใจ
“มันยังมีกรณีที่นักเตะญี่ปุ่นอยากย้ายไปเล่นในพรีเมียร์ลีกของอังกฤษมากกว่าบุนเดสลีกา” โครธ กล่าว
“ในระดับหนึ่ง ตอนนี้มันก็เป็นอย่างนั้นอยู่ แต่มันชัดเจนมากในตอนที่ผมเริ่มทำ งานของผมในตอนนั้นคือทำให้ผู้เล่นเอเชียสนใจบุนเดสลีกา พวกเขาค่อนข้างระมัดระวังเพราะว่าพวกเขาไม่รู้อะไรเกี่ยวกับลีกนี้เลย”
แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็เปลี่ยนไปเมื่อสหัสวรรษใหม่ หลังญี่ปุ่นเริ่มมีหน้ามีตาในระดับโลก ทั้งการผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1998, รองแชมป์ในฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 20 ปีในปี 1999 และตำแหน่งรองแชมป์คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ 2001
บวกกับในฤดูกาล 2006-2007 ลีกเยอรมันได้ยกเลิกโควตานักเตะต่างชาติ ที่ทำให้การซื้อนักเตะนอกยุโรปกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น จนทำให้นักเตะจากแดนซามูไรย้ายมาเล่นในบุนเดสลีกาอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็น นาโอฮิโระ ทาคาฮาระ ที่มาอยู่กับฮัมบูร์ก ในปี 2002, ชินจิ โอโนะ ที่เล่นให้กับโบคุม ในปี 2007, จุนอิจิ อินาโมโตะ กับแฟรงค์เฟิร์ต ในปีเดียวกัน หรือ โยชิโตะ โอคูโบะ กับโวล์ฟสบวร์ก ในปี 2008
แต่นักเตะที่ทำให้นักเตะเอเชียสามารถปักธงลงในแผนที่ในบุนเดสลีกาก็คือ มาโคโตะ ฮาเซเบะ ที่ย้ายมาอยู่กับโวล์ฟสบวร์ก ในปี 2008 เพราะเขาไม่ได้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของทีมเท่านั้น แต่ยังเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้หมาป่าเมืองเบียร์ผงาดคว้าแชมป์บุนเดสลีกาในฤดูกาล 2008-09
“ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปด้วยนักเตะญี่ปุ่นที่ถูกเรียกว่า โกลเดน เจเนอเรชั่น” โครธ อธิบาย
“พวกเขาคือนักเตะอย่าง จุนอิจิ อินาโมโตะ, นาโอฮิโระ ทาคาฮาระ หรือ ชินจิ โอโนะ ที่ผมเป็นตัวแทน การย้ายทีมครั้งแรกของผมคือ ทาคาฮาระ ที่ย้ายมาฮัมบูร์ก ในปี 2003 แต่ดีลสำคัญที่สุดสำหรับผมคือ มาโคโตะ ฮาเซเบะ ที่ย้ายมาอยู่กับโวล์ฟบวร์ก ในปี 2008 เพราะเขาคว้าแชมป์ลีกได้ทันที”
“ด้วยการเจรจาของ โธมัส โครธ ที่ได้รับความไว้วางใจจากเยอรมัน ก็ทำให้สโมสรยอมรับ (นักเตะเอเชีย)” เรียวเฮ ซูซูกิ ที่เคยมาเป็นโค้ชให้ อาร์เมเนีย บีเลเฟลด์ ในช่วงทศวรรษที่ 1980s กล่าวกับ The Answer
จนได้มาพบกับเพชรเม็ดงามที่ชื่อว่า “ชินจิ คางาวะ”
คางาวะฟีเวอร์
ในตอนที่ ชินจิ คางาวะ เซ็นสัญญากับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ในปี 2010 เขาเป็นเพียงนักเตะโนเนมในระดับนานาชาติ เพราะนอกจากจะไม่ได้ติดทีมชาติไปเล่นในฟุตบอลโลก 2010 แล้ว เซเรโซ โอซากา ต้นสังกัดเดิมของเขายังเป็นแค่ทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในเจ 1
แต่ทันทีที่ได้รับโอกาสลงสนามภายใต้การทำทีมของ เยอร์เกน คล็อปป์ ดาวเตะค่าตัว 350,000 ยูโรคนนี้ก็ทำให้มุมมองที่มีต่อนักเตะเอเชียเปลี่ยนไป เมื่อเขาทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ด้วยการยิงไปถึง 8 ประตูจาก 18 นัด พาดอร์ทมุนด์คว้าแชมป์ลีก รวมทั้งมีชื่อติดทีมยอดเยี่ยมแห่งปีของบุนเดสลีกาได้ทันที แม้ว่าครึ่งฤดูกาลหลังจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโรงหมอเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บก็ตาม
คางาวะ ยังโดดเด่นในซีซั่นต่อมา ด้วยการยิงไป 17 ประตูจาก 43 นัดในทุกรายการ พาดอร์ทมุนด์คว้าดับเบิลแชมป์ บุนเดสลีกา และ เดเอฟเบ โพคาล จนทำให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทีมดังในพรีเมียร์ลีก ควักเงิน 17 ล้านปอนด์ดึงตัวไปร่วมทีม
“คางาวะไม่ได้ไปเล่นฟุตบอลโลก 2010 แต่เขาทำได้อย่างยอดเยี่ยมในบุนเดสลีกา” ทาเคฮิโระ นาคามูระ ผู้จัดการทั่วไปของ Lead Off Sports Marketing กล่าวกับ AP
“เขาทำให้แต่ละสโมสรคิดมากขึ้นกว่าเดิมว่าที่ญี่ปุ่นมีนักเตะอายุน้อย เปี่ยมด้วยพรสวรรค์ และราคาถูก ที่จูงใจให้แมวมองไปดูเจลีกอย่างใกล้ชิดกว่าที่เคยเป็นมา”
“นอกจากนี้ค่าตัวและเงินเดือนสำหรับนักเตะดาวรุ่งเหล่านั้นยังมักจะถูกและทำให้พวกเขาน่าสนใจยิ่งขึ้นสำหรับสโมสรเยอรมัน”
และนั่นก็คือประตูสู่ยุโรปที่แท้จริงของแข้งจากเอเชีย หลังจากปรากฏการณ์ คางาวะ บุนเดสลีกาก็เปิดรับแข้งจากเอเชียอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทั้ง ชินจิ โอคาซากิ, อัตสึโตะ อูจิดะ, โกโตคุ ซากาอิ, คู จาชอล ไปจนถึงคนที่มาเล่นตั้งแต่เยาวชนอย่าง ซน ฮึง มิน
“หลังจากความสำเร็จของคางาวะ หลายสโมสรในเยอรมันจำนวนมากสนใจนักเตะญี่ปุ่น และในสายตาของผม นี่คือเหตุผลสำคัญว่าทำไมนักเตะจำนวนมากจึงย้ายมาเยอรมันในช่วงนี้” ทาคาชิ อูซามิ ที่ย้ายไปบาเยิร์น มิวนิค เมื่อปี 2011 ให้ความเห็น
ทั้งนี้ความสำเร็จของคางาวะไม่เพียงทำให้แข้งเอเชียได้รับความสนใจเท่านั้น แต่มันยังพิสูจน์ให้ชาวตะวันตกเห็นว่าพวกเขาสามารถเอาตัวรอดในลีกแห่งนี้ได้ เนื่องจากบุนเดสลีกาไม่ได้เน้นพละกำลังเหมือนกับพรีเมียร์ลีก
แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างมาตรฐานในเรื่องทัศนคติและความเป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะนักเตะญี่ปุ่นที่ถูกชื่นชมในเรื่องความมีวินัย การเสียสละตัวเองเพื่อส่วนรวม และการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเยอรมันให้คุณค่าเช่นกัน
“คางาวะตัวเล็ก และผู้คนก็สงสัยว่าเขาจะเล่นในลีกที่แข็งแกร่งอย่างบุนเดสลีกาได้หรือไม่ แต่เขาก็พิสูจน์ด้วยการเป็นหนึ่งในนักเตะที่เก่งที่สุด” นาคามูระ อธิบาย
“ยิ่งไปกว่านั้นสโมสรเยอรมันหลายทีมก็ชื่นชมทัศนคติและความเป็นมืออาชีพทั้งในและนอกสนามของนักเตะญี่ปุ่น พวกเขาสามารถดูแลนักเตะเหล่านี้ได้ง่าย แถมพวกเขายังเล่นได้หลายตำแหน่ง ซึ่งช่วยให้โค้ชสามารถสร้างทีมได้สะดวก”
บวกกับบ้านเมืองของเยอรมันที่ผู้คนที่นี่รักษากฎหมายและมีความปลอดภัย ทำให้นักเตะจากต่างทวีปปรับตัวได้ไม่ยาก และกลายเป็นหมุดหมายหลักของแข้งเอเชีย
บ้านของแข้งเอเชีย
ปัจจุบัน บุนเดสลีกา ถือเป็นลีกที่อุดมไปด้วยนักเตะจากเอเชียมากที่สุด เมื่อเทียบกับ 5 ลีกใหญ่ในยุโรป โดยฤดูกาล 2021-2022 ที่ผ่าน พวกเขามีแข้งเชื้อสายเอเชียมากถึง 14 คน ประกอบไปด้วยญี่ปุ่น 9 คน เกาหลีใต้ 3 คน อิหร่าน และฟิลิปปินส์ ชาติละ 1 คน
“บุนเดสลีกามีชื่อเสียงในฐานะลีกนานาชาติ แต่เราภูมิใจกับสายสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับเอเชียเป็นพิเศษ” โรเบิร์ต เคลน ผู้บริหาร บุนเดสลีกา อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว
“เราตั้งตารอที่จะได้ต้อนรับดาวเตะจากเอเชียมากขึ้นหลังจากนี้ และเราก็จะสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับแฟนบอลและฟุตบอลเอเชีย”
พวกเขายินดีที่จะให้ลีกแห่งนี้เป็นบ้านของนักเตะเอเชีย และมีความมุ่งมั่นที่จะอิมพอร์ตนักเตะจากฝั่งตะวันออกเข้าไปเล่นในบุนเดสลีกาเท่าที่เป็นไปได้
ทำให้นอกจากมาทัวร์เอเชียเพื่อเสาะหานักเตะและขยายฐานแฟนบอลแล้ว พวกเขายังหวังที่จะสร้างแข้งเอเชียตั้งแต่ระดับเยาวชน โดยมี บาเยิร์น เป็นทีมนำร่อง หลังก่อตั้งโรงเรียนสอนฟุตบอลที่ชิงเต่า ประเทศจีน มาตั้งแต่ปี 2016
ซึ่งมันก็เริ่มออกดอกออกผลเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2021 บาเยิร์นได้เซ็นสัญญาคว้าตัว หลิว เจ้าจื้อหยาง ผู้รักษาประตูดาวรุ่ง ภายใต้แผนพัฒนาเยาวชนมาร่วมทัพ ก่อนจะส่งไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับ ออสเตรีย คลาเกินเฟิร์ต ในลีกสูงสุดของออสเตรีย
“สำหรับ หลิว เจ้าจื้อหยาง มันเป็นแผนระยะยาว เพราะว่าเขามาฝึกซ้อมอยู่หลายปีก่อนเซ็นสัญญา” เควิน ซิม หัวหน้าฝ่ายเอเชียแปซิฟิคของบุนเดสลีกา กล่าวกับ South China Morning Post
Photo : FC Bayern
ขณะเดียวกันในเดือนมีนาคม 2022 บาเยิร์นยังได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกับสมาคมฟุตบอลเวียดนาม รวมถึงเปิดสำนักงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ที่ทำให้โอกาสของนักเตะเอเชียไม่ได้จำกัดอยู่แค่แข้งชาวเกาหลีหรือญี่ปุ่นเท่านั้น
“แน่นอนว่าเรายินดีต้อนรับพันธมิตรแบบนี้จากทั่วทั้งทวีป มันคงเป็นความน่าอายหากไม่ทำแบบนั้น ผมคิดว่ามันสำคัญที่จะผลักดันฟุตบอลเอเชียออกไปอีกสักนิด” เควิน อธิบาย
แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายและยังอีกยาวไกล แต่อย่างน้อยความมุ่งมั่นและตั้งใจจากฝ่ายบุนเดสลีกาก็ทำให้เห็นว่า มันก็ยังมีความหวังและสามารถฝันถึงได้
และวันหนึ่งเราอาจจะได้เห็นนักเตะสายเลือดไทยในเยอรมันอีกครั้งก็เป็นได้
“ผู้เล่นดาวรุ่งเอเชียแทบทุกคนปรารถนาที่จะเล่นในบุนเดสลีกาหรือยุโรป แต่แน่นอนว่าเส้นทางสู่ความสำเร็จนั้นไม่ได้ง่าย” เควิน ซิม หัวหน้าฝ่ายเอเชียแปซิฟิคของบุนเดสลีกา กล่าว
“มันต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเรียนรู้ ซึ่งประโยชน์บางอย่างอาจจะได้มาจากการอยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน”
“ซน ฮึง มิน คือตัวอย่างของการได้รับการดูแลและปลูกฝังโดยสโมสรในบุนเดสลีกา ซึ่งนี่เป็นพื้นฐานในการฝึกฝนเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นดาวเด่นที่ทีมอื่นต้องการ”